"หมากขุม" กีฬาพื้นบ้านภาคใต้
เนื่องจากในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่สิ่งต่างๆ มากมาย ทำให้โลกก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว กีฬาพื้นบ้านบางอย่างหาเล่นและหาชมได้ยากขึ้นในปัจจุบัน และหนึ่งในนั้นก็คือ “หมากขุม” ซึ่งเมื่อพูดถึง หมากขุม หลายคนอาจจะยังไม่ทราบและไม่เคยเห็นว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วเล่นกันแบบไหน
ภาพโดย TheUjulala จาก Pixabay
หมากขุมนั้นไม่มีประวัติที่มาแน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดค้น หรือมีจุดกำเนิดมาจากจังหวัดอะไร แต่หมากขุมเป็นเหมือนของเล่นที่มาก่อนที่เกมคอมพิวเตอร์จะเกิดขึ้นเสียอีก ซึ่งของเล่นนี้ภาคใต้จะเรียกกันว่า “หมากขุม” “หมากหลุม” และ “หลุมเมือง” ซึ่งในชื่อนั้นจะอธิบายถึงลักษณะหรืออุปกรณ์ที่ใช้เล่น ก็คือมีทั้งหมากและหลุม
อุปกรณ์ในการเล่นหมากหลุมนั้น มีด้วยกันหลักๆ คือ 2 อย่าง
- วัสดุที่ใช้ในการใส่ลงไปในหลุม ที่เรียกว่า “ลูกหมาก” เช่น เม็ดมะขาม ลูกหวาด ลูกแก้ว ลูกหิน เม็ดยางพารา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ตามธรรมชาติ ลูกหวาดหรือลูกสวาทจะมีลักษณะเป็นเม็ดสีเทาอมเขียว ขนาดเท่ากับหัวแม่มือ ซึ่งเป็นผลจากไม้เถาชนิดหนึ่ง
- อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นหลุม ซึ่งนำมาต่อให้ติดกันเป็นแถว หรืออาจจะใช้ภาชนะที่เป็นหลุม ซึ่งภาพที่ผู้เขียนนำมาเสนอนั้นจะเป็นไม้ที่มีการแกะให้เป็นหลุมภายในเนื้อไม้
Photo by Tobias Tullius on Unsplash
กีฬาพื้นบ้านชนิดนี้ เป็นกีฬาที่นับวันจะสูญหายไป อาจจะเนื่องด้วยลูกหมากหรือวัสดุอื่นที่ค่อยๆ หายไปถึงแม้จะมีการใช้วัสดุอื่นแทนที่ใช้ลูกแก้ว ซึ่งสามารถหาได้ง่ายกว่าและทนทานมากกว่า ซึ่งการละเล่นชนิดนี้เป็นกีฬาที่สามารถเล่นได้ทุกช่วงเวลา และสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย เป็นเกมที่เล่นเพื่อฝึกสมาธิในการใส่หมากในแต่ละหลุม เพราะในการที่จะเล่นเกมนี้วนไปซ้ำๆ อาจจะทำให้เกิดการใส่หมากผิดหลุมได้ ซึ่งเป็นตัวช่วยอย่างดีในการฝึกสมาธิ อีกทั้งยังเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย แม้นว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าและมีโทรศัพท์เข้ามาแทนที่กีฬาพื้นบ้าน แต่กีฬาหมากหลุมนั้นก็ยังเป็นกีฬาในดวงใจของใครหลายๆ คน
*** อุปกรณ์ที่ใช้มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ซึ่งกฏและกติกาการเล่นหมากหลุมจะคล้ายเดิม อาจจะมีการปรับเปลี่ยนที่จำนวนหลุมลดลงหรือเพิ่มขึ้น หรือ การเพิ่มหรือลดจำนวนของหมากในแต่ละหลุม เพื่อให้การเล่นสะดวกและสนุกได้ทุกสถานที่
ที่มาของข้อมูล : https://sport.trueid.net/detail/qzqBBrBOrQO7